วิสัยทัศน์ พันธกิจ

วิสัยทัศน์

วิสัยทัศน์

สมาคมธนาคารไทยได้วางแนวทาง (Roadmap) การพัฒนาระบบการเงินในช่วง 3 ปี ของอุตสาหกรรมภาคธนาคารพาณิชย์ โดยปรับให้สอดคล้องบริบทของสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น เพื่อรับมือความท้าทายและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน เสริมสร้างความเชื่อมั่นระบบการเงิน และยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยทุกคนพร้อมยกระดับการแข่งขันของประเทศไทย ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยขับเคลื่อนใน 4 ด้าน ดังนี้

1. Enabling Country Competitiveness การเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ โดยนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของภาคธุรกิจเพื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์ขึ้น โครงการที่สำคัญ เช่น โครงการ Smart Financial and Payment Infrastructure for Business หรือ PromptBiz เป็นการพัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูลการค้า การชำระเงิน ข้อมูลผู้ให้บริการทางการเงินและระบบภาษีของภาครัฐผ่านกระบวนการดิจิทัล อีกโครงการคือ National Digital ID (NDID)หรือการยืนยันตัวตนในรูปแบบดิจิทัล และ ระบบ e-Signature หรือลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ ควบคู่กับการบริหารความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคล และความเสี่ยงทางไซเบอร์อย่างเข้มข้น ตลอดจนผลักดันการวางกรอบแนวทางสนับสนุน ระบบ Open Banking หรือ การสร้างกลไกให้ผู้ใช้บริการทางการเงินในฐานะเจ้าของข้อมูลสามารถบริหารจัดการข้อมูลที่มีอยู่ที่ธนาคารต่าง ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัลได้สะดวกมากขึ้น ล่าสุด ภาคธนาคารได้เปิดตัวการให้บริการ d-Statement หรือการรับส่งข้อมูลรายการเคลื่อนไหวของบัญชีเงินฝาก (bank statement) ในรูปแบบดิจิทัลระหว่างสถาบันการเงิน เพื่ออำนวยความสะดวก และลดต้นทุนของลูกค้า

2. Regional Championing การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ นักลงทุนและประชาชนสามารถทำกิจกรรมการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ และการชำระเงินของนักท่องเที่ยวในภูมิภาคได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย ต้นทุนต่ำ โดยสมาคมฯ จะเดินหน้าสนับสนุนการเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินดิจิทัลระหว่างกันในภูมิภาค รวมถึงสนับสนุนระบบสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง หรือ CBDC และต่อยอดสู่การชำระเงินระหว่างประเทศ โดยมีโครงการที่สำคัญ คือ โครงการ National Digital Trade Platform (NDTP) ร่วมกับ กกร. เพื่อปรับเปลี่ยนการทำธุรกรรมการค้าขายระหว่างประเทศสู่ระบบดิจิทัล เพิ่มประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุนและระยะเวลา และสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงการค้าระหว่างประเทศ และเข้าถึงสินเชื่อได้ดีขึ้น

3. Sustainability ภาคธนาคารต้องดำเนินงาน และมีส่วนผลักดันให้การดำเนินงานของภาคเอกชนคำนึงถึงหลักการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนหรือ ESG โดยสมาคมฯ จะผลักดันให้ภาคธุรกิจปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) และ BCG economy หรือโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสมาคมฯ ร่วมกับธปท. พัฒนาแนวปฏิบัติการธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking) ไปใช้ในการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจนและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล นอกจากนี้ สมาคมฯ จะร่วมกันแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ยกระดับมาตรการทั้งก่อนและหลังเป็นหนี้ โดยสนับสนุนการจัดทำศูนย์กลางข้อมูลเครดิตให้สมบูรณ์ รวบรวมข้อมูลเครดิตจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งธนาคารและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร และสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อสามารถแก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จ ควบคู่กับการให้ความรู้ทางการเงินและการเงินดิจิทัล รวมถึงสร้างกลไกในการเพิ่มวินัยทางการเงินและส่งเสริมการออมเงิน โดยเฉพาะการออมเผื่อเกษียณ นอกจากนี้ ยังมุ่งลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมให้ประชาชนและภาคธุรกิจ สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินได้มากขึ้น โดยสมาคมฯ จะส่งเสริมการใช้ข้อมูลทางเลือกในการพิจารณาสินเชื่อ รวมถึงการปล่อยสินเชื่อแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นต้น

4. Human Capital การพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่มีทักษะตอบโจทย์โลกอนาคต สามารถปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบันและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยสมาคมฯ จะเดินหน้าพัฒนาทักษะ (Up & Re-skill) พนักงานธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบที่มีอยู่กว่า 1.3 แสนราย ให้มีความรู้ด้านดิจิทัลมากขึ้น โดยอาศัยแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ของสถาบันธนาคารไทย (Thai Banking Academy-TBAC)พร้อมยกระดับ TBAC ให้มีบทบาทเป็นศูนย์กลางระดับชาติด้านองค์ความรู้และการวิจัยของอุตสาหกรรมการเงิน เพื่อให้บุคลากรในอุตสาหกรรมการเงิน มีสมรรถนะที่สามารถตอบโจทย์โลกการเงินในยุคดิจิทัลตามมาตรฐานสากล นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจลูกค้ามากขึ้น สอดรับกับโมเดลธุรกิจของภาคธนาคารที่มุ่งสู่ดิจิทัล แบงกิ้ง และเน้นความคล่องตัวอย่างเต็มรูปแบบ

พันธกิจ




ส่งเสริมให้ธนาคารสมาชิกให้ความร่วมมือกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานและประสิทธิภาพและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันมากขึ้นซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโตอย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพ


เพื่อเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและเป็นที่ยอมรับโดยการเข้าไปมีส่วนร่วมในเวทีต่างๆทั้งภายในและต่างประเทศ


การทำงานร่วมกับผู้ได้รับผลประโยชน์ ผู้ควบคุมดูแล และหน่วยงานภาครัฐเพื่อปรับปรุงความรู้และความเข้าใจในภาคอุตสาหกรรมต่างๆที่ส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจ และสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าของธนาคารให้ได้รับความสะดวกในการใช้บริการจากทางธนาคารด้วยความมั่นใจ